มาทำความรู้จัก Circular Economy กันเถอะ
มาทำความรู้จัก Circular Economy กันเถอะ
เรามาทำความรู้จัก Circular Economy กันดีกว่า ว่ามีความสำคัญหรือประโยชน์กับเราอย่างไร
Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ถ้าแปลอย่างตรงตัวและให้เข้าใจง่าย ก็คือระบบเศรษฐกิจที่ต้องการให้เราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ แทบทุกขั้นตอนไม่ควรมีอัตราการเกิดของเสีย หรือมีได้แต่ควรน้อยที่สุด เพื่อให้ทั้งกระบวนการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
Circular Economy ประกอบด้วย 8 หลักการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทางได้แก่
1. Durability (ทนทาน ใช้งานได้นานขึ้น) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยการเพิ่มความคงทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดใช้ทรัพยากร หรือลดของเสียจากซากเหลือทิ้ง
2. Renew ability (นำวัสดุที่สร้างทดแทนใหม่ได้มาใช้ในการผลิต) การผลิตหรือการออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ โดยการนำ วัสดุที่ประกอบด้วยชีวมวลที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือที่สามารถสร้างทดแทนได้อย่างต่อเนื่องมาใช้ในการผลิต
3. Reuse (ใช้ซ้ำได้หลายครั้งตลอดอายุการใช้งาน) การผลิตหรือ ออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
4. Repair (บำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ตลอดอายุการใช้งาน) คุณลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถทำการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ เมื่อเกิดความเสียหายเพื่อยืดอายุการใช้งาน
5. Replacement (เปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม ที่อาจใช้ได้ครั้งเดียวหรือมีสารอันตราย ด้วยการใช้วัสดุทางเลือกหรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต
6. Upgrade (เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน) การเพิ่มประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์บางชิ้นของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่ต้องซื้อหรือผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่
7. Refurbishment (การปรับปรุงเป็นของใหม่) การซ่อมแซมหรือปรับปรุงสินค้าที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดตำหนิ โดยส่งคืนกลับไปยังผู้ผลิต พร้อมรับการตรวจสอบตามมาตรฐานของโรงงานอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง
8. Reduced Material Use (ลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต การจัดจำหน่าย การกระจายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องบริการ
ข้อดีของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลและลดปริมาณของเสีย อีกทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เกิดการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
19 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 2808 ครั้ง