วิธีสังเกตสัญลักษณ์รีไซเคิล 7 ชนิด บนผลิตภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ เพื่อการใช้สอยอย่างคุ้มค่า
วิธีสังเกตสัญลักษณ์รีไซเคิล 7 ชนิด บนผลิตภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ เพื่อการใช้สอยอย่างคุ้มค่า
หมวดหมู่: NEWS & ACTIVITIES
วิธีสังเกตสัญลักษณ์รีไซเคิล 7 ชนิด บนผลิตภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ เพื่อการใช้สอยอย่างคุ้มค่า
พลาสติกถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้มากมาย ซึ่งเป็นที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย พลาสติกจึงมีหลากหลายชนิด เพื่อให้ผู้ผลิตได้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ตรงความความต้องการของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าพลาสติกมีประโยชน์มาก ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แต่จะดีแค่ไหนถ้าพลาสติกเหล่านี้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก จึงขออธิบายวิธีสังเกตสัญลักษณ์รีไซเคิลภาษาอังกฤษ ทั้ง 7 แบบ บนผลิตภัณฑ์ภัณฑ์พลาสติกชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการคิดก่อนใช้ ดังนี้
1) PET, PTET โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พลาสติกใส เหนียว แข็งแรง น้ำหนักเบา ป้องกันน้ำซึมผ่านได้ดี ใช้ผลิตขวดน้ำดื่ม โซดา-น้ำอัดลม ขวดน้ำสลัด-น้ำมันพืช PET/PTET ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากโรงงานรีไซเคิล เพื่อใช้สร้างผลิตภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ พรม กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม
2) HDPE โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง มีน้ำหนักเบา แข็ง ทนต่อการทำละลาย และความร้อน ใช้ผลิตภาชนะอุปโภค-บริโภค อาทิ ขวดนม เหยือกน้ำ ขวดแชมพู ขาโต๊ะ-เก้าอี้ และถังน้ำมัน HDPE สามารถรีไซเคิลได้ง่าย โดยการขึ้นรูปเป็นโต๊ะ ม้านั่ง รั้วไม้เทียม
3) PVC โพลิไวนิลคลอไรด์ หรือพีวีซี มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทนทานต่อสารเคมี และการขัดถู ใช้ทำท่อน้ำ สายยาง ประตู อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือ หรือหนังเทียม PVC มีอายุการใช้งานยาวนาน และนำไปรีไซเคิลเป็น กรวยจราจร หรือม้านั่งพลาสติกได้
4) LDPE โพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ คุณสมบัติ ใส นิ่ม เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี น้ำหนักเบา ทนต่อความเย็น ใช้ผลิตถุงช้อปปิ้ง บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง พรม เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า LDPE นำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว พลาสติกห่อของ ถุงดำ ถุงขยะ ถังขยะ หรือกระเบื้องปูพื้นได้
5) PP โพลิโพรพิลีน มีความเหนียว น้ำหนักเบา ทนต่อความชื้น และสารเคมี มักใช้ผลิตภาชนะบรรจุอาหาร หลอดดูด กระบอกน้ำ ขวดยา และถังใส่สี PP ใช้รีไซเคิลเป็น ชิ้นส่วนรถยนต์ ถุงร้อนใส่อาหาร แก้วพลาสติก หรือกล่องอุ่นอาหารในไมโครเวฟ (โปรดสังเกตคำว่า “Microwave Safe” ที่กล่อง)
6) PS โพลิสไตรีน มีความโปร่งใส ทนต่อกรด-ด่าง ไอน้ำซึมผ่านได้ น้ำหนักเบา เปราะแตกง่าย ใช้ทำกล่องโฟมใส่อาหาร ช้อนส้อม และแก้วน้ำดื่ม PS มีราคาถูก แต่ก็ใช้รีไซเคิลเป็นฉนวนกันความร้อน จาน แผงไข่ไก่ และกล่องซีดีได้
7) OTHER พลาสติกชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1-6 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย จึงต้องมีสัญลักษณ์กำกับอย่างชัดเจน และเมื่อมีพลาสติกชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลก พลาสติกใหม่ ๆ เหล่านั้น จึงถูกจัดเข้าหมวดหมู่ Other อาทิ โพลีคาร์บอเนต (PC), พลาสติกชีวภาพ โพลีแลคติกแอซิด (PLA) และโพลีบิวทิลีนอะดิเพต (PBAT) หรือพลาสติกเกรดวิศวกรรม เช่น โพลีบิวทีลีนเทเรฟทาเลต (PBT) เป็นต้น นอกจากการใช้สัญลักษณ์ Other การใช้เครื่องหมายรีไซเคิล และกำกับด้วยตัวอักษร PC หรือ PLA ตามประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก ก็จะช่วยให้การรีไซเคิลพลาสติกประเภทนี้ ซึ่งผ่านการใช้งานแล้ว เข้าสู่ระบบการจัดการหลังการใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
การใส่ใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยฝึกสังเกตสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์พลาสติกดังกล่าว บวกกับวินัยในการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง เช่น ขวดน้ำ ควรการลอกฉลากออก แยกฝาและขวดออกจากกัน ล้างทำความสะอาดสิ่งสกปรก แล้วแยกชนิดก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ เท่านี้ก็ถือเป็นการใช้สอยพลาสติกอย่างคุ้มค่า ลดขยะ ช่วยรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา: baanlaesuan.com, pttgrouprayong.com และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก
26 สิงหาคม 2565
ผู้ชม 2362 ครั้ง